เมื่อการรวมตัวกันเล่น “เกมผีออนไลน์” (เกม AR) ของพวกเขาบังเอิญทำให้แตงถ่าย “ภาพติดผี” ได้ที่ตึกร้างแห่งนั้น เธอและคิตตี้จึงรีบส่งต่อให้เพื่อนคนอื่นๆ ด้วยความท้าทายและคึกคะนองในการแกล้งเพื่อนที่กลัวผี โดยไม่รู้เลยว่าความสยองที่ถูกแพร่กระจายไปในมือถือนั้นอาจจะเล่นงานพวกเขาและคนรอบข้างจนถึงตายได้
หนังผีไทยที่เล่นกับความทันสมัยอย่างโซเชี่ยลฯ มาให้ท้าทายกันอีกแล้ว งานนี้ได้ผู้กำกับหญิงอย่าง มนัสนันท์ พงษ์สุวรรณ ที่เคยทำหนังอย่าง โรงเรียนผี มาถ่ายทอดความเฮี้ยน จริง ๆ ส่วนตัวชอบงานของเธอใน โรงเรียนผีนะ มีหลายอย่างที่ค่อนข้างน่าพอใจทีเดียวทั้งการปั้นแต่งเรื่องและเมคอัพผีที่หลอนดิบได้ใจดี แม้จะมีหลุด ๆ ในการใส่อารมณ์ตลกมาไม่ค่อยเนียนนัก ก็หวังอยู่ลึก ๆ ว่าเรื่องนี้น่าจะมีความสร้างสรรค์ใหม่ ๆ มากขึ้น ๆ
หนังได้ดาราคุณภาพคลื่นรุ่นใหม่ของวงการมาร่วมหลายคนเลย ทั้ง พลอย ศรนรินทร์ ที่ต้องรับบทนำฝ่ายสาว ๆ คู่กับ จ๋า สุธีธิดา และสมทบด้วยฝ่ายชายอย่าง อ๋อง ธนา และ เบสท์ ณัฐสิทธิ์ ซึ่งรายหลังนี่ได้บทในหนังดี ๆ หลายค่ายแล้วน่าจะเป็นความหวังของวงการหนังไทยได้ในอนาคต ส่วนสาวพลอยนี่ยิ่งตอกย้ำว่าเธอเป็นนักแสดงประสิทธิภาพสูงที่เล่นได้หลากหลายแนวและทำได้ดีเสมอจริง ๆ น่าเสียดายที่เธอควรมีหนังฮิตหนัก ๆ ได้แล้ว ซึ่งก็น่าเสียดายอีกที่หนังใช้พลังของพลอยและเบสท์ได้ไม่เต็มศักยภาพนัก โดยเฉพาะความรู้สึกของความเป็นเพื่อนระหว่าง พลอย กับ จ๋า ที่ต้องแบกหนังร่วมกันนั้นรู้สึกได้เบาบางมาก จนหลายฉากเราจะสงสัยว่ามันเป็นเพือนที่สนิทกันจริง ๆ เหรอ พินิจซ้ำเข้าใจว่าหนังเล่นปมกับอารมณ์ที่ต้องโยงฉากนู้นนี้มากไปจนทำให้ไม่สามารถสร้างสถานะของอารมณืในซีนนั้นได้ เหมือนเป็นซีนที่ต้องให้เห็นความสนิทสนมและเป็นเพื่อนตายกันได้ แต่นักแสดงกลับต้องพยายามแสดงปมเบื้องลึกในใจที่ไม่เกี่ยวข้องกับซีนนั้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งเรื่องอิจฉาครอบครัวเพื่อน หรือคิดว่าเพื่อนชอบเรียกร้องความสนใจ จนซีนง่าย ๆ ที่จะให้คนดูรู้สึกเอาใจช่วยสองคนนี้ก่อนมันหายไป จากซีนง่ายก็กลายเป็นยากโดยไม่จำเป็น ยิ่งหนังพล็อตไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนักเลยด้วย
ซึ่งตรงนี้เป็นข้อพลาดร้ายแรงที่หนังไม่สามารถทำให้เราเชื่อในตัวละครเอกได้ พอไม่อิน มันจะนำพาไปเจออะไรก็กลายเป็นเรื่องทะแม่ง ๆ ไปเสียหมด
หนังมีประเด็นสะท้อนสังคมผ่านผี ว่าด้วยเรื่องของการส่ง-รับเทคโนโลยีโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ความแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของข่าวสาร ที่อาจไม่ทันได้ไตร่ตรองและนำภัยมาหาผู้คนที่เล่นเอง ซึ่งทำให้ชวนนึกถึงพวกภาพข่าวโหด ๆ ที่บางคนชอบแชร์ทั้งที่ไม่มีใครร้องขอ หรือแม้แต่การไลฟ์สดการฆ่าตัวตายหรือความรุนแรงต่าง ๆ เรีกว่าหนังมีจุดตั้งต้นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียวที่จะสะท้อนสังคม จนเป็นชื่อหนังที่สื่อชัดเจนว่า ไวรัล ผีโทรศัพท์ แต่ก็น่าเสียดายที่คำว่าไวรัลไม่ได้ถูกเอามาใช้เลย มีเพียงบทสนทนาสั้น ๆ ว่าใครได้รับภาพผีไปจะเป็นยังไงหว่า ซึ่งในเรื่องก็ไม่แสดงผลของความใจไวของวัยรุ่นจุดนี้อย่างจริงจังเลย ตัวละครหนึ่งที่ตายก็ดูเป็นเรื่องความบังเอิญมากกว่าผลของการส่งแชร์ไม่คิด จนแปลกใจที่หนังพลาดประเด็นที่เอามาคิดเป็นพล็อตหนังเองไปได้อย่างไร
แถมหนังยังมีความไม่สมจริงมากมายที่บางครั้งทำเอาต้องหัวเราะในความแฟนของตัวละคร ที่แม้ผีจะออกมาหลอกหลอนขนาดไหนแต่ก็ยังคงใช้กล้องมือถือถ่ายไปอยู่อย่างนั้น ทั้งการเฉลยวิธีปราบผีก็เป็นการคุยกันโดยนึกคิดกันเอาเอง ราวกับอยู่ดี ๆ ก็บรรลุฌานวิเศษกันขึ้นมาแล้วก็บังเอิญเดาถูกเป๊ะเสียอย่างนั้น โดยไม่ได้ใส่คำใบ้ที่เพียงพอจะยอมรับได้ว่าทำไมต้องปราบผีด้วยวิธีนี้