The Theory of Everything หรือทฤษฎีรักนิรันดร์นั้นเป็นเรื่องราวที่สร้างขึ้นจากเค้าโครงเรื่องจริงของ สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง นักฟิสิกส์ที่มากด้วยความรู้และถูกนับได้ว่าอัจฉริยะเลยทีเดียว ในตอนแรกนั้นเขาก็ใช้ชีวิตอยู่แบบเด็กวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่ง ไปเรียน มีความรัก และ ใช้ชีวิตอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย
ในตอนแรกสตีเฟ่นยังเป็นเพียงนักศึกษาชั้นปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ แค่นั้นก็คงฟังดูน่าทึ่งแล้ว แต่เหนือสิ่งอื่นใด อาการของโรคเริ่มมีผลปะทุออกมาให้เห็น ซึ่งก่อนหน้าสตีเฟ่นก็ไม่ได้รู้ตัวหรอก และไม่ได้คาดว่าตัวเองจะเป็นโรคที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต คงไม่มีใครหรอกที่คิดว่าตัวเองผิดปกติ และพร้อมจะเสียชีวิตได้ในเวลาไม่นาน
กับสตีเฟ่นก็เช่นเดียวกัน เขายังไปเรียน เฮฮากับเพื่อน ๆ ใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขดี และที่สำคัญคือ เขากำลังมี ‘ความรัก’ กับหญิงสาวคนหนึ่งที่เป็นนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน
เธอคนนั้นชื่อ เจน ไวลด์ ซึ่งแน่นอนว่าเธอไม่ได้ล่วงรู้เกี่ยวกับอาการป่วยของสตีเฟ่น เพราะแม้แต่เจ้าตัวเองก็ไม่อาจทราบได้ ต่อมาเมื่อสตีเฟ่นรู้ความจริงเกี่ยวกับโรคนี้ เขาก็พยายามยุติความสัมพันธ์กับเจน เพราะหนทางข้างหน้าคงไม่ได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบแน่ ๆ
ต้องขอชื่นชมความมั่นคงในรักของเจน ที่เธอยืนยันที่จะต่อสู้เคียงข้างกับสตีเฟ่นต่อไป แม้เขาจะต้องประสบกับภาวะอันเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม เชื่อว่าเจนเองก็ไม่ใช่คนโง่ คิดว่าเธอก็อ่านออกว่าความสัมพันธ์ในครั้งนี้นั้นจะนำพาเธอไปสู่อะไร
มันเหมือนสภาวะกึ่งเดินกึ่งวิ่ง เจนเองก็คงลังเลอยู่เหมือนว่าจะหยุดวิ่งตามการกระทำที่ทัดทานของสตีเฟ่นดีหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าสุดท้ายเธอก็ตัดสินใจวิ่งไปต่อกับเขา เพราะความรักที่มากเกินกว่าจะทิ้งเขาไว้คนเดียวได้ และความรักนั้นเองคงทำให้เธอมีพลังที่จะต่อสู้กับความเหนื่อยยากทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา
โรคของสตีเฟ่นนั้นมีชื่อว่า โรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม หรือเรียกง่าย ๆ ว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งทำให้เขาเริ่มควบคุมอวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกายไม่ค่อยได้ และมันก็จะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา โดยหมอบอกว่าเขาอาจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงไม่นาน
อาการของโรคนั้นเริ่มทำร้ายเขาหนักขึ้นทุกที ทั้งอาการสั่นที่มือทั้งสอง ทำให้การเขียนของเขานั้นยากลำบากและไม่เป็นภาษา การควบคุมร่างกายเริ่มไม่เป็นอย่างที่คิด จากเดินติดขัดจนต้องมีใช้ไม้เท้าพยุงและลงท้ายด้วยการเดินไม่ได้จนต้องนั่งรถเข็น และในภายหลังเกิดบางเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องสูญเสียความสามารถในการพูดสื่อสารไป แต่ก็ได้เครื่องมือชนิดที่สามารถเปลี่ยนตัวอักษรจากปลายนิ้วเขาให้เป็นเสียงพูดได้
สิ่งที่สตีเฟ่นหลงเหลือในตอนนั้นคงมีเพียงไม่กี่อย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเจนที่อยู่กับเขาเสมอ เรียกได้ว่าเป็นกำลัง ‘หลัก’ ของบ้านเลยทีเดียว เพราะนอกจากภาระการเลี้ยงลูก ๆ ทั้ง 3 คนแล้ว เธอยังต้องรับบทหนักในการดูแลสามีอีกด้วย เราอาจไม่มีโอกาสได้เห็นแต่คาดว่าเจนต้องผ่านทุกช่วงเวลาอย่างยากลำบาก หนังอาจจะไม่ได้ฉายให้ดูแต่คาดว่าบางทีเธอคงแอบไปนั่งร้องไห้คนเดียวที่มุมของบ้าน หรือบางทีเธออาจจะนึกแช่งชักหักกระดูกในโชคชะตา หรืออาจจะแอบไปนั่งปรับทุกข์กับสาวข้างบ้านก็ได้
อีกสิ่งหนึ่งที่สตีเฟ่นยังหลงเหลืออยู่และออกจะมากเกินคนทั่วไปคือ ‘สมอง’ เขาศึกษาเกี่ยวกับดาราศาสตร์และจักรวาล ซึ่งมันก็เริ่มต้นตั้งแต่ที่สตีเฟ่นยังดูปกติดีเสียด้วยซ้ำ แต่อาการป่วยนี้ก็ไม่ได้หยุดเขาเกี่ยวกับการศึกษาด้านนี้แต่อย่างใด
แม้จะมีเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อการสื่อสารของเขา แต่ก็ได้เครื่องตัวหนึ่งมาช่วย มันสามารถแปลงตัวอักษรเป็นเสียงพูดได้ในทันที ซึ่งในหนังนั้นใช้เวลาเพียงเสี้ยววิก็สามารถโต้ตอบกับคนอื่นได้แล้ว แต่เชื่อว่าในความเป็นจริงคงต้องใช้เวลามากกว่านั้น และการที่สตีเฟ่นสามารถเขียนหนังสือออกมาได้เป็นเล่ม จะต้องใช้เวลาและความพยายามมากมายเพียงไร
ในตอนเกือบท้ายของเรื่อง สตีเฟ่นได้ขึ้นไปบนเวทีเพื่อบรรยายต่อหน้าคนมหาศาล มีอยู่ฉากหนึ่งที่ปากกาของผู้ร่วมสาวตกลงพื้น เขายังจินตนาการถึงภาพตัวเองเดินลงเก็บปากกาด้ามนั้น เป็นฉากที่สร้างความสะเทือนใจได้มากทีเดียว
ตอนท้ายหนังก็จบลงแบบที่ไม่สุขมาก แต่ก็ไม่เศร้าเสียเท่าไร จัดว่าเป็น happy ending ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งในชีวิตจริง สตีเฟ่นเพิ่งเสียชีวิตลงในเวลาไม่นานมานี้ด้วยวัย 76 ปี ถ้ามันไปตามที่หมอพูดคงนับได้ว่า 2 ปีที่เหลืออยู่ในตอนนั้นช่างยาวนานเสียเหลือเกิน !