ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เราใช้เวลากับหน้าจอสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตกันมากขึ้น และโดยไม่ทันสังเกตเราก็ยิ่งใช้เวลากับมันโดยเฉพาะการใช้งานแอปโซเชียลมีเดียต่าง ๆ กันแบบไม่ลืมหูลืมตาแต่สิ่งที่เราไม่เคยรู้เลยก็คือว่าบรรดาแอปโซเชียลต่าง ๆ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติของเราไปโดยไม่รู้ตัว และหารู้ไม่ว่าธุรกิจดิจิทัลอย่างโซเชียลมีเดียกำลังบ่อนทำลายเสรีภาพทางความคิดของมนุษย์เพียงเพื่อตักตวงผลประโยชน์อย่างไร้มนุษยธรรม
นี่คือโจทย์ที่ The Social Dilemma สารคดีเรื่องล่าสุดที่เพิ่งปล่อยสตรีมมิงทาง Netflix ในสัปดาห์ที่ผ่านมาและกำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางเพราะมันกำลังพาเราเจาะลึกเข้าไปยังวงจรอุบาทว์ของธุรกิจที่อาศัยอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียในการบงการให้คนใช้เวลากับหน้าจอสมาร์ตโฟนแถมชี้นำความคิดของผู้คนเพียงเพื่อให้เลือกสินค้าและบริการหรือกระทั่งส่งผลต่อทัศนคติทางการเมืองอันส่งผลต่อการเลือกตั้งแถมยังยั่วยุให้เกิดการแบ่งแยกความคิดผู้คนอย่างไร้จริยธรรม
ถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยแล้วว่าสารคดีจะใช้ไม้ตายไหนในการบอกเล่าและโน้มน้าวเราให้เชื่อและร่วมรู้สึกไปกับสารที่มันกำลังนำเสนอ และวิทยายุทธแรกของมันก็คงหนีไม่พ้นการนำตัวคนที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างอดีตผู้ร่วมก่อตั้งและมีบทบาทกับโซเชียลมีเดียสำคัญ ๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ อินสตาแกรม ฯลฯ ดังนั้นในด่านแรกมันจึงทำหน้าที่เป็นเหมือนห้องสารภาพบาปของเหล่าผู้ก่อการที่ออกมาแฉกระบวนการชี้นำความคิดและบทบาทของโซเชียลมีเดียที่ทำให้สังคมแหว่งวิ่นและผิดเพี้ยน
ซึ่งปัญหาที่สารคดียกมาก็ต้องยอมรับแหละว่าเป็นเรื่องที่รู้ดีกันอยู่แล้วทั้งการกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) การที่เยาวชนใช้เวลากับโลกโซเชียลมากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือแม้แต่การลดความภูมิใจในคุณค่าตนเองด้วยอุดมคติความงามที่แพร่กระจายในอินเทอร์เน็ต เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราก็รับรู้กันอยู่แล้วแต่กระนั้นมันก็กลับตอกเราด้วยข้อมูลอันน่าตกตะลึงและเหลือเชื่อว่าเหล่าบริษัทที่ทำธุรกิจด้านสื่อโซเชียลกำลังใช้ข้อมูลมหัต หรือ Big Data มาชี้นำความคิดของผู้ใช้งานอย่างไร้มนุษยธรรม
โดยสารคดีพยายามอธิบายให้เราเข้าใจง่าย ๆ ท้้งผ่านบทสัมภาษณ์เหล่าอดีตผู้ทำงานด้านโซเชียลมีเดียและกระบวนการจำลองสถานการณ์ผ่านนักแสดงซึ่งในศัพท์ของทางสารคดีเราเรียกมันว่า Docudrama (ดอกคูดรามา) ทั้งผลกระทบต่อเยาวชนและครอบครัวอย่างที่กล่าวไปย่อหน้าก่อนและรวมถึงการจำลองสถานการณ์การทำงานของอัลกอริทึมของสื่อโซเชียลโดยใช้แอนิเมชัน Inside Out เป็นแรงบันดาลใจ ดังนั้นเราเลยได้เห็นคนหน้าเหมือนกัน 3 คนกำลังควบคุมข้อมูลที่ผู้ใช้งานคนหนึ่งกำลังจะได้เห็นบนหน้าจอไม่ต่างจากหุ่นเชิด
แต่กระนั้นสิ่งที่ต้องยอมรับตรง ๆ ก็คือสิ่งที่ เจฟฟ์ ออร์โลวสกี ผู้กำกับสารคดีนำเสนอก็เกิดจากการตั้งธงในแง่ร้ายกับสื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลัก มันเลยขาดข้อมูลมาคะคานกับเหล่าอดีตผู้พัฒนาสื่อโซเชียลดัง ๆ หรือกระทั้งนักวิชาการต่าง ๆ ที่มาให้ข้อมูลอันน่าตกตะลึงว่าโซเชียลมีเดียกำลังใช้อำนาจชั่วร้ายของมันทำลายสังคมมนุษย์ได้อย่างไร สิ่งที่พอจะยกประโยชน์ให้จำเลยได้นอกจากข้อมูลที่บ่งบอกความยากลำบากที่จะทำให้สื่อโซเชียลกลับมาเป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่ถูกใช้อย่างเหมาะสมแล้วก็คงเป็นลีลาการเล่าเรื่องที่เราต้องยอมรับว่าเวลาร่วม 94 นาทีของมันผ่านไปอย่างรวดเร็วและดูสนุกมาก
ดังนั้นสิ่งที่ The Social Dilemma น่าจะก่อคุณูปการที่สุดคงหนีไม่พ้นการเป็นมือที่หยิกแขนเราให้ตื่นรู้ถึงเหรียญด้านที่ส่งผลร้ายของสื่อโซเชียลมีเดียเพื่อให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อและป้องกันตนเองและครอบครัวได้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าตัวสารคดีจะได้รับความนิยมในไทยมากกว่านี้ โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลบ่าและวิวาทะในสังคมออนไลน์กำลังร้อนแรงทะลุปรอทอยู่ในขณะนี้