เมื่อเวลาที่เร็วขึ้นเพียง 1 มิลลิวินาทีตัดสินโอกาสรวย วินเซนต์ (เจสซี ไอเซนเบิร์ก) และ แอนทอน (อเล็กซานเดอร์ สการ์สการ์ด) เลยคิดโปรเจกต์ต่อท่อเคเบิลข้ามรัฐสู่วอลล์สตรีท เพื่อหวังส่งข้อมูลการซื้อขายให้ได้ภายใน 16 มิลลิวินาที ซึ่งอุปสรรคที่ขวางเขานอกจากสัญญาซื้อขายที่ดินในการขุดนับร้อยยังมี เอวา (ซัลมา ฮาเย็ค) เจ้าแม่โบรคเกอร์เขี้ยวลากดิน ที่ทำทุกทางให้โปรเจกต์ของพวกเขาพังพาบ
นี่คือผลงานเขียนบทและกำกับของ คิม งูเยน ที่เคยพา War Witch ชิงออสการ์หนังต่างประเทศเมื่อปี 2012 นับว่าจับเรื่องที่อยู่ในหลืบมุมของสงครามการเงินมาเล่าได้อย่างน่าสนใจ จนเป็นที่กล่าวขวัญในเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโตมาแล้ว ความน่าสนใจเริ่มตั้งแต่การปูคาแรกเตอร์ วินเซนต์ กับ เอมิช ตอนตั้นเรื่องที่เล่าถึงการวางท่อประปาระหว่างเขากับพ่อว่าต่อให้เจออุปสรรคแค่ไหน เขาก็อยากรู้อยู่ดีว่าปลายอุโมงค์เป็นอย่างไร ซึ่งการปูพื้นตอนต้นเรื่องที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญนี้กลับเป็นตัวยืนยันความบ้ามุทะลุในตัว วินเซนต์ ที่แม้จะเจออุปสรรคทั้งเรื่องที่ดิน การราวีของเจ้าแม่โบรคเกอร์ หรือแม้แต่สว่านขุดเจาะหัก เขาก็ไม่มีวันรามือเพียงเพื่อให้ได้เห็นว่า “ปลายอุโมง” มีอะไร เขาพร้อมพุ่งชนทุกอย่างต่อให้ตัวเองเผชิญโรคร้ายปางตายก็ตาม ซึ่งบุคลิกและชะตากรรมของตัววินเซนต์กลับมาสะท้อนความโลภในโลกทุนนิยมได้อย่างคมคาย เพราะเพียงต้องการลดเวลาถ่ายโอนข้อมูลซื้อขายเพียงไม่กี่มิลลิวินาที เขายอมแลกไม่เพียงสุขภาพตัวเองเท่านั้นแต่ยังฉกตัวแอนทอนจากครอบครัวด้วยข้อเสนอบ้านริมแม่น้ำไว้ดูนกฮัมมิงเบิร์ด หากเขาสามารถเขียนโค้ดให้ได้ความเร็ว 16 มิลลิวินาที (เท่ากับการกระพือปีก 1 ครั้งของนกฮัมมิงเบิร์ด – ที่มาของชื่อเรื่อง) และพาเขาไปเสี่ยงกับคดีฟ้องร้องจากเจ้านายเก่าสุดเขี้ยวอย่างเอวาด้วย
และไม่เพียงการวางหมากให้ทั้งฝ่าย วินเซนต์-แอนทอน มาปะทะเฉือนคมกับ เอวาเท่านั้น เพราะระหว่างทางบทหนังยังฉลาดมากพอที่จะใส่ตัวละครสมทบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับทั้ง วินเซนต์และแอนทอนอย่างมีนัยสำคัญ คือการพบกับชุมชนเคร่งศาสนาที่ปฏิเสธการวางท่อแม้จะทุ่มเงินให้แค่ไหนก็ตามของวินเซนต์ และการพบบาร์เทนเดอร์ที่โยนคำถามถึงผลประโยชน์เกษตรกรเมื่อแอนทอนอธิบายตัวแปรในการทำเงินจากความเร็วของดาต้า ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลคือความลึกซึ้งของบทภาพยนตร์ที่คิม งูเยน ถ่ายทอดได้อย่างล้ำลึกและเต็มไปด้วยลีลาลูกล่อลูกชนได้อย่างชาญฉลาด
นอกจากนี้งานสร้างของหนังเองยังหลุดพ้นกรอบที่ว่า หนังเดินเรื่องด้วยบทสนทนามักด้อยในงานวิช่วล ตรงกันข้าม คิม งูเยน และผู้กำกับภาพ นิโคลัส โบลดัค กลับให้ความสำคัญทั้งการเลือกโลเคชั่นให้เข้ากับสถานการณ์ในเรื่อง กำหนดโทนภาพทั้งเย็นชาและอบอุ่นได้อย่างชาญฉลาดไปจนถึงการใช้ภาพสโลว์โมชันตอนท้ายที่เป็นการปิดฉากหนังที่เดินหน้าด้วยสปีดเต็มสตรีมมาเกือบ 2 ชั่วโมงได้อย่างสวยงามน่าประทับใจมาก