Secret In Their Eyes หนังรีเมกจากหนังอาร์เจนตินา เจ้าของรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ คงต้องถูกเปรียบเทียลกับต้นฉบับอย่างเลี่ยงไม่ได้ และถือว่าเสี่ยงพอสมควรในการเอาหนังระดับที่นักวิจารณ์ชอบ 91% ที่ Rotten Tomatoes ประเมินไว้มาสร้างใหม่ และแม้ว่าผมจะไม่เคยดูต้นฉบับก็ตาม แต่วัดจากตัวอย่างหนังแรกที่ฉบับสร้างใหม่นี้ปล่อยออกมาก็ถือว่ามันมีพลังและมีความแข็งแรงในตัวของมันเองอยู่สูงมากๆ อาจเป็นไปได้ก็ได้ว่าบางครั้งหนังบางดีเรื่องก็สามารถถูกนำกลับมาสร้างใหม่ได้ดีเหมือนกัน
หนังเป็นเรื่องราวของสองเอฟบีไอเพื่อนซี้ เจส (จูเลีย โรเบิร์ต) และ เรย์ (ชิวาเทล เอ็จจิโอฟอร์) และแคลร์ (นิโคล คิดแมน) อัยการสาวที่อยู่ในสำนักงานเดียวกัน ที่ได้มาใกล้ชิดกันเมื่อลูกสาวของเจส (โรเบิร์ต) ถูกฆ่าตายอย่างทารุณ แต่มีเหตุให้ฆาตกรหลุดลอยนวลไป เรย์ตามล่าฆาตกรอย่างหนักกว่า 13 ปี จนพบตัวคนร้ายและเบาะแสใหม่ที่อาจทำให้เปิดคดีได้อีกครั้ง แต่ก็ไม่มีใครเตรียมพร้อมรับกับความลับอันน่าตกใจและไม่อาจปริปากเล่าได้ที่ได้เปิดเผยถึงความพยาบาทอันยาวนานและบ่อนทำลายจิตใจมนุษย์คนหนึ่ง
หนังลึกลับซับซ้อนเรื่องนี้ที่บอกเล่าอดีตกับปัจจุบันผสมกันไป จะค่อยๆ เผยถึงเส้นบางๆ ที่ขั้นระหว่างความยุติธรรมกับศาลเตี้ย พร้อมกับตั้งคำถามว่า คนเราจะกล้าทำถึงเพียงไหนเพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิดเกินคณาให้ถูกต้อง
จุดเด่นที่ทำให้หนังเรื่องนี้น่าสนใจอย่างมากนอกจากเนื้อเรื่องแล้วก็คงเป็นพลังการแสดงของจูเลีย โรเบิร์ต ในแบบที่เรายังไม่เคยเห็นเธอแสดง และตัวอย่างหนังตัดฉากที่ส่งพลังของเธอออกมาจนน่าขนลุก ทั้งยังได้เอ็จอิโอฟอร์ จาก 12 Years a Slave กับคิดแมนมาเสริมทัพ ยิ่งบวกพลังความดึงดูดให้หนังมากยิ่งขึ้นไปอีก
Secret In Their Eyes กำกับและดัดแปลงบทโดยบิลลี่ เรย์ ผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์จาก Captain Phillips และกำกับหนังที่ได้คำวิจารณ์ด้านดีอย่าง Breach และ Shattered Glass ครับ จะเข้าฉายในสหรัฐ 23 ตุลาคมนี้ คลิกดูภาพและตัวอย่างด้านใน
น่าจะถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับใครหลายคนไม่น้อย ที่ในการประกาศรางวัลออสการ์ปีล่าสุด ผลรางวัลในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ตกเป็นของหนังอาร์เจนตินาที่ชื่อ The Secret in their Eyes เรื่องนี้ แทนที่จะเป็นหนังเต็งหามที่ราศีจับแพรวพราวกว่าอย่าง The White Ribbon ตัวแทนประเทศเยอรมนี หรือ The Prophet ตัวแทนฝรั่งเศส
แต่ก็อย่างว่าล่ะนะคะ การตัดสินความยอดเยี่ยมดีเด่นของอะไรสักอย่างหนึ่งโดยคนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานในขอบข่ายศิลปะทุกแขนง ซึ่งหาเกณฑ์อันเป็น “รูปธรรม” มาชี้วัดความดีได้ค่อนข้างยาก ต่อให้มีเครื่องหมายรับรองทางการค้าว่าบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้มาเป็นกรรมการนั้น ทรงคุณวุฒิและเป็นกลางขนาดไหนก็ตาม ลงท้าย ดิฉันยังเห็นว่ามันมีเรื่องของ “รสนิยมส่วนตัว” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยไม่มากก็น้อย บางคนโดนเป็นพิเศษกับหนังบางประเภท และไม่รับ ไม่โดน “ไม่ได้เลย” กับหนังบางประเภท
ที่กำลังจะบอกก็คือ ที่สุดแล้ว เพื่อความผาสุกของหัวจิตหัวใจ บางทีเราควรปล่อยให้รางวัลเป็น “เรื่องของรางวัล” รักใคร่ชอบพอหนังเรื่องไหน เราก็รักของเราเงียบๆ ต่อไป ไม่ว่ามันจะได้รางวัลหรือโดนหนังเรื่องไหนแซงปาดตัดหน้าคว้าไปสบายใจเฉิบก็ตาม