เช้าวันหยุดที่ควรสุขสันต์ของสาวเสิร์ฟอย่าง คาร์ลา แมคคอย (ฮัลลี เบอรี) ต้องแปรสภาพเป็นวัน ล่าหยุดนรก เมื่อโจรร้ายมาพราก แฟรงกี้ (เซจ คอร์เรีย) ลูกชายสุดที่รักไปจากอกท่ามกลางความวุ่นวายในสวนสนุกอันนำพาเธอให้ต้องฮ้อตะบึงรถเอสยูวีไล่ล่าคนร้ายในรถมัสแตงบนไฮเวย์สุดระห่ำ งานนี้ความเป็นแม่ที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ลูกกลับคืนจะกลายแรงผลักดันให้ผู้หญิงธรรมดากลายเป็นมนุษย์แม่มหาประลัย
หลุยส์ ปริเอโต้ ผู้กำกับสุดหล่อชาวสเปน
KIDNAP เป็นผลงานกำกับของ หลุยส์ ปริเอโต้ ผู้กำกับสุดหล่อชาวสเปนที่เคยมีผลงานรีเมค Pusher (2012) งานเก่าของผู้กำกับ นิโคลัส วินดิง เรเฟิน แห่ง DRIVE (2011) มาเป็นผู้กุมบังเหียนบอกเล่าเรื่องราวสุดระทึกของคุณแม่สาวเสริฟที่หวังเพียงใช้ชีวิตวันหยุดไปกับการพาลูกชายไปเที่ยวสวนสนุกซึ่งก็ถือว่าทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีทั้งการออกแบบทางกล้องถ่ายโคลสอัพตัวละครเพื่อให้คนดูใกล้ชิดและรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของแม่อย่างคาร์ลาตัดสลับกับภาพการไล่ล่าบนท้องถนนที่แม้หนังจะเล่นง่ายด้วยการเน้นถ่ายมุมแคบๆ แต่ด้วยจังหวะการตัดต่อชั้นเซียนก็ถือว่าไม่บกพร่องในการเร่งจังหวะสร้างความระทึกแต่อย่างใด รวมถึงการไล่ล่าตอนท้ายที่ใช้การตัดสลับจากภาพกว้างไปภาพแคบที่ทั้งแสดงความไม่น่าไว้วางใจของสถานการณ์และความกลัวในฐานะมนุษย์ธรรมดาของคาร์ลาได้อย่างยอดเยี่ยมแม้กลวิธีดังกล่าวจะไม่ใช่ของใหม่ในหนังทริลเลอร์แล้วก็ตาม
บทหนังระทึกลุ้นตัวโก่ง แม้มีช่องโหว่รูเบ้อเริ่ม
คริส แมกกินน์ รบบท มาร์โก โจรสาวร่างยักษ์ที่สวมวิญญาณปีศาจร้ายพรากลูกชายคาร์ลา (ฮัลลี เบอร์รี)
สิ่งที่ผู้เขียนดูจะชอบและชังในคราวเดียวกันก็คือ บทหนังของ เนต กวอล์ทนีย์ ที่เลือกเปิดเรื่องเพื่อแนะนำตัวละครอย่าง คาร์ลา ที่ร้านอาหารในเช้าวันหยุดที่เธอจำต้องรับอารมณ์ลูกค้าทั้งครอบครัวที่ยายเป็นอัลไซเมอร์และแม่ที่ต้องดูแลลูกชายเอาแต่ใจโต๊ะหนึ่งสลับกับอีกโต๊ะที่เป็นคู่รักโดยฝ่ายหญิงสาวเป็นพวกเรื่องมากและชอบดูถูกคน ซึ่งถือเป็นการสร้างจุดแตกต่างให้หนังทริลเลอร์ลักพาตัวที่มักไปเริ่มเรื่องในสถานที่เกิดเรื่องเพื่อปูสถานการณ์และตัวละครจากบทสนทนา ซึ่งเอาตามจริงฉากในร้านอาหารดังกล่าวเป็นการสร้างความเห็นอกเห็นใจให้ตัวละครแบบเมโลดราม่าที่ละครไทยชอบใช้มากคือนางเอกเป็นคนจนหาเช้ากินค่ำและจำต้องทำงานเกินเวลาในวันหยุดที่เธอขอแค่ได้พาลูกชายไปเที่ยวใช้เวลาครอบครัว แต่เหมือน“เบื้องบน”กลั่นแกล้งเธออย่างไม่ยุติธรรม
ซึ่งการปูพื้นตัวละครให้น่าเห็นใจนี้มีส่วนช่วยในการเสริมแรงให้จุดแตกหักของแม่อย่างคาร์ลา สามารถนำพาอารมณ์คนดูให้อยู่เหนือตรรกะที่หนังทิ้งช่องโหว่ไว้รายทางได้แบบต้องยกประโยชน์ให้จำเลย เพราะหากมาพิจารณาดูแล้วหนังมีปมเรื่องใหญ่อีกปมที่ปูไว้แต่กลับละทิ้งไม่ได้สานต่อคือกรณีอดีตสามีฟ้องศาลและขอสิทธิดูแลลูกชายอันเป็นเหตุให้เธอผละจากแฟรงกี้มารับโทรศัพท์ ซึ่งหนังก็แอบปูพื้นเรื่องนี้ไว้ในบทสนทนาบนรถระหว่างทางมาสวนสนุกที่เธอขอให้ลูกชายผูกมิตรกับภรรยาใหม่พ่อ นอกจากหนังไม่สานต่อแล้วยังเป็นกับดักในฉากหนึ่งที่คาร์ลาไปแจ้งความและดันโทรศัพท์ไปฝากข้อความแจ้งเรื่องลูกชายถูกลักพาตัวให้สามีเก่าทราบอีกต่างหากทั้งที่มีเรื่องฟ้องร้องกันอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่างที่กล่าวไปข้างต้นเพราะในเมื่อหนังเปิดตัวคาร์ลาในแบบมนุษย์แม่ชนชั้นล่างที่การตัดสินใจอาจไม่ได้ชาญฉลาดอย่างคนมีการศึกษาและต้องทำทุกทางแม้จะไร้เหตุผลรวมถึงการสวดมนต์วิงวอนของความเมตตาต่อ “พระเจ้า” จนเกิดปาฏิหาริย์ขึ้นหลายครั้งอีกด้วย