เรื่องย่อ Han Gong Ju (2014) ฮันกงจู ฉันไม่ได้ทำอะไรผิด
ขึ้นหัวไว้แบบนี้…แต่ถ้าว่ากันตามจริงเรื่องนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวกับเจ้าหญิงหรอก มันไม่มีเจ้าชาย ไม่มีปราสาท ไม่มีนางฟ้าแม่ทูนหัว มีแต่ชายสันดานชั่ว 43 คน ที่กระทำบางสิ่งที่สุดแสนจะเลวร้ายต่อผู้หญิงคนหนึ่ง ภาพยนต์เรื่องนี้ได้รับคำชมรวมถึงกวาดรางวัลมากมายหลายเวทีทั้งในแลต่างประเทศ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจ…ไม่สิ! เรื่องราวเลวร้ายเช่นนั้นไม่อาจเรียกได้ว่าแรงบันดาลใจได้ ฉะนั้นขอใช้คำว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อ้างอิงจากเหตุการณ์จริงแล้วกัน เหตุการณ์ที่ว่าคือ ‘เหตุการณ์การข่มขืนรุมโทรม ณ เมือง มิรยาง ปี 2004’ โดยมีรายละเอียดคร่าวๆตามนี้
“เด็กนักเรียนชายชั้นมัธยมปลายจำนวน 41 คน ร่วมกันกระทำการข่มขืนนักเรียนหญิง 3คน ในช่วงระยะเวลา 11เดือน โดยเหยื่อคนแรกอายุ 14ปี ถูกกลุ่มนักเรียนชายบันทึกภาพแบล็กเมลล์โดยบังคับให้เธอนำตัวน้องสาววัย 13ปี (ตำรวจสรุปว่าเหยื่อรายนี้อาจถูกลวนลามทางกายภาพเท่านั้นไม่ได้ถูกข่มขืน) และลูกพี่ลูกน้องวัย 16ปี มาที่เมืองมิรยางด้วย…ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่มีผู้กระทำผิดคนไหนได้รับการตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา
ทีนี้กลับมาเข้าเรื่องของเราดีกว่าเรื่องของภาพยนตร์ เรื่องของ ฮันกงจู
เพียงแต่แรกเริ่มเปิดฉากเราได้เห็นฮันกงจู นั่งอยู่ในห้องๆหนึ่งห้อมล้อมด้วยผู้ใหญ่ที่ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่อะไรสักอย่างหลายคนที่แสดงท่าทีหมางเมิน เหยียดหยาม ดูหมิ่น อย่างไม่ปกปิด ก่อนที่เธอจะพูดกับคนเหล่านั้นว่า “ฉันไม่ได้ทำอะไรผิด” และเพียงไม่กี่ฉากต่อไปเราก็ได้รู้ได้เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของฮันกงจู…
ส่วนตัวเราว่าหนังเลือกเล่าเรื่องราวอย่างเรียบง่ายและตรงไปตรงมา ไม่พยายามปกปิดหรือบิ้วด์อารมณ์ผู้ชมแต่อย่างใด อาจเพราะมันอ้างอิงจากเรื่องจริงเรื่องที่เคยเขย่าคนทั้งชาติ(เกาหลีใต้)มาแล้ว แต่นั่นแหละแม้เนื้อเรื่องจะตรงไปตรงมาแต่วิธีการเล่าแบบแฟลชแบล็กผ่านความคิด ผ่านการดำเนินชีวิตปัจจุบันของตัวฮันกงจูเองนั้นมันทำให้หนังน่าสนใจ เปรียบเหมือนกับการต่อภาพจิ๊กซอว์ ที่เราจะค่อยๆได้เห็นรายละเอียดของภาพนั้นชัดขึ้น ชัดขึ้น จนกระทั่งเป็นภาพที่สมบูรณ์
สิ่งหนึ่งที่เราชอบมากในภาพยนตร์เรื่องนี้คือแม้เนื้อหาหลักของเรื่องนั้นเรียกได้ว่า ‘รุนแรง’ แต่ทว่าทางผู้สร้างเองก็ไม่ได้หยิบความรุนแรงนั้นมาเป็นจุดขายแบบกระหน่ำใส่ในหลายฉากซีน หากแต่เลือกนำเสนอความรุนแรง ความโหดร้าย หดหู่เหล่านั้นมันผ่านตัวละคร ผ่านชีวิตของฮันกงจู ผ่านการแสดงที่ยอดเยี่ยมของ ชอนอูฮี (เรียกได้ว่าเธอกวาดรางวัลนักแสดงหญิง/นักแสดงหญิงหน้าใหม่ในหลายๆเกือบทุกเวทีในเกาหลีใต้เลยตอนนั้น)
จะบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จัดเป็นแนว Coming of Age ก็คงได้นะ เพราะแม้ว่ามันจะสร้างจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ แบบ Based on True Story ที่เรื่องจริงนั้นมันจบไม่สวย (เหยื่อถูกครอบครัวผู้กระทำผิดคุกคามจนไม่สามารถสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายส่งผลให้ปัจจุบันเธอผู้นั้นต้องหาเช้ากินค่ำโดยการใช้แรงงาน…ในขณะที่ผู้กระทำผิดนั้นสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปรกติสุขอยู่ในสังคมต่อไป) เรามองว่าผู้สร้างเลือกที่แสดงให้เห็นถึงการ ‘ก้าวข้ามผ่าน’ อะไรหลายๆอย่างในชีวิตของฮันกงจู มากกว่าจะยึดติดหรือเน้นย้ำกับเหตุการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้น มันจึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่แม้จะดูหม่นหมองแต่ก็ยังจะพอมองเห็นความหวังอยู่บ้าง…
‘แม้ชีวิตมันจะพบเจอเรื่องบัดซบ แต่ตอนจบนั้นเรามีสิทธิ์เลือก’ นี่คือสิ่งที่วาบวับเขามาในหัวเมื่อเราดูจบ
หลังจากที่ได้อ่านการเขียนที่ไม่เป็นประสาสักเท่าไรแถมยังไร้หลักการของเราจนมาถึงประโยคนี้…ซึ่งอาจจะทำให้ใครบางคนเกิดความฉงนสงสัยว่าทำไมเราถึงใช้คำว่า เจ้าหญิงเงือก มาเป็นส่วนหนึ่งในชื่อบทความ เหตุผลง่ายๆ ชื่อของเธอ กงจู (공주) นั้นแปลว่า เจ้าหญิง และทำไมต้องเงือกนั้น…เพราะความฝันของฮันกงจูคือการว่ายน้ำข้ามสระ ที่กว้าง 25เมตร