ภาพยนตร์ “คานธี” (1982) ฉายภาพชีวิตอันอาบไปด้วยหยาดเหงื่อและหยดเลือดของมหาตมะคานธี (Mohandas Karamchand Gandhi, aka Mahatma Gandhi, 1869-1948) บุรุษชาวอินเดียผู้ต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษด้วยสันติวิธีจนสามารถนำอินเดียให้พ้นยุคแห่งการกดขี่ได้สำเร็จ แต่ตัวเขาเองต้องจบชีวิตลงด้วยคมกระสุนของภารตชนด้วยกันผู้ฝันถึงอนาคตของชาติอินเดียในภาพที่ต่างออกไป
ใจความของภาพยนตร์ “คานธี” คือการนำเสนอภาพชีวิตแห่งการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพแก่ชาวอินเดียของคานธี ฉากต่างๆในตอนต้นเรื่องช่วยเร้าความรู้สึกเวทนาต่อสภาพที่ไร้สิทธิเสรีภาพของชาวอินเดียในถิ่นฐานต่างๆผ่านมุมมองของคานธีซึ่งเป็นตัวละครหลัก เราเห็นการเหยียดสีผิวที่ทำให้คานธีเองซึ่งแม้จะเป็นพลเมืองและทนายที่ชอบด้วยกฎหมายของอังกฤษถูกโยนลงจากรถไฟทั้งที่เขาก็มีตั๋ว เราเห็นการจำกัดสิทธิพลเมืองโดยรัฐบาลอังกฤษที่บังคับให้ชาวอินเดียต้องพกบัตรประจำตัวของราชการตลอดเวลา ซึ่งเมื่อคานธีแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านข้อบังคับนี้โดยการเผาบัตรก็ถูกตำรวจอังกฤษลงโทษจนบาดเจ็บสาหัส ฉากเหล่านี้แสดงความข้นแค้นของชาวอินเดียไปพร้อม ๆ กับการเล่าภาพชีวิตในขณะนั้นของคานธี ผู้ซึ่งต่อมาเมื่อย้ายถิ่นพำนักจากแอฟริกากลับสู่อ้อมอกอินเดียก็พยายามปลดแอกอินเดียจากของอังกฤษด้วยสันติวิธี
แต่หนทางแห่งเสรีภาพนั้นไม่ราบรื่น คานธีเผชิญปัญหามากมายระหว่างการเรียกร้องทางการเมืองดังกล่าว ทั้งการต่อต้านจากฝ่ายกฎหมายและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอังกฤษที่ไม่ยอมเพิกเฉยต่อท่าทีปฏิวัติของคานธีและสหายร่วมอุดมการณ์อีกหลายราย นอกจากนี้ยังต้องเผชิญการต่อต้านจากชาวฮินดูหัวรุนแรงที่เกรงว่าหากอินเดียเข้าสู่สภาวะแห่งสันติภาพด้านศรัทธา (การอยู่ร่วมกันอย่างสันติของกลุ่มชนของทุกศาสนาในอินเดีย) อย่างที่คานธีปรารถนา ชาวอิสลามจะมีอิทธิพลมากขึ้นซึ่งจะสั่นคลอนความมั่นคงของชาวฮินดู ซึ่งท้ายสุดแล้วปมขัดแย้งนี้ก็เป็นปมมรณะของคานธีเอง ทว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นความไพศาลของแผ่นดินและประชากรของอินเดียที่ทำให้คานธีไม่สามารถกำกับการเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์อันแรงกล้าของชาวอินเดียทั้งมวลให้เป็นเอกภาพได้ จนเกิดเหตุรุนแรงกับฝ่ายรัฐบาลและความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมในวงกว้าง ดังในฉากการลุกฮือของชาวฮินดูและชาวอิสลามที่บุกโจมตีกันและกันด้วยความแค้นจนสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินไปมหาศาล ก่อนจะคลี่คลายลงด้วยการอดอาหารของคานธีซึ่งเร้าเรียกสำนึกสันติภาพให้กลับคืนสู่มโนสำนึกของชาวอินเดียทั้งมวลอีกครั้ง
ในส่วนของการนำเสนอ ภาพยนตร์ไม่ได้ถ่ายทอดชีวประวัติของคานธีตามลำดับเวลา หากแต่เปิดเรื่องด้วยวาระสุดท้ายของชีวิตคานธีเพื่อให้ระลึกว่าทุกเหตุการณ์ที่จะปรากฏต่อไปจะมาจบลงอีกครั้งในเหตุการณ์นี้ การลำดับเรื่องเช่นนี้ไม่มุ่งเร้าอารมณ์ให้ลุ้นติดตามถึงตอนจบ แต่มุ่งสร้างความสะเทือนใจและศรัทธาอันทรงพลัง การตายของคานธีในฉากแรกทำให้อารมณ์ของผู้ชมมัวหม่นซึมเซาตั้งแต่ต้นเรื่อง และเมื่อเหตุการณ์ต่างๆดำเนินไป ความสงสารคานธีผู้ต้องเผชิญความลำบากนานาในการต่อสู้ทางการเมืองจะไต่ระดับขึ้น หากขาดฉากการตายของคานธีในต้นเรื่อง ความตื่นเต้นและเร่งรีบที่จะให้ถึงตอนจบของผู้ชมจะทำให้ไม่อาจซาบซึ้งในปฏิบัติการอันงดงามของคานธีได้ละเอียดเพียงพอ และเมื่อมาถึงการตายของคานธีในฉากสุดท้าย อารมณ์ผู้ชมจะจมสู่กระแสความรู้สึกที่ท่วมท้น ทั้งโศกและซาบซึ้งที่หลั่งไหลในสำนึกภายหลังจากรับรู้เรื่องราวชีวิตของคานธีแล้ว มรณกรรมในฉากสุดท้ายเป็นดั่งบทสรุปอันแสนวิปโยค ปลายทางสุดท้ายของผู้เรียกร้องเอกราชให้อินเดียอย่างสันติสุดท้ายก็จบด้วยความแค้นและอคติต่างๆที่ฝั่งแน่นในใจมนุษย์จนมิอาจมองเห็นความสำคัญของการอุทิศตนเพื่อมนุษยชาติของคานธี
หลักปรัชญาสำคัญที่กำกับกระบวนการขับเคลื่อนเสรีภาพของคานธีคือหลักอหิงสา (Non-violence) ซึ่งหมายถึงการไม่ใช้ความรุนแรงในทุกกรณี ทั้งคานธี สหายร่วมอุดมการณ์ และชาวอินเดียนับล้านต่างต้องการอิสรภาพจากจักรวรรดิอังกฤษแต่มีวิถีดิ้นรนต่างกันเป็นสองขั้ว ขั้วหนึ่งสนับสนุนการใช้กำลังเข้าแลกและอีกขั้วหนึ่งเรียกร้องการขัดขืนด้วยสันติวิธี คานธีนั้นอยู่ขั้วหลังเพราะเห็นว่าชนทั้งปวงล้วนเป็นมนุษยโลกร่วมกัน ไม่ควรทำร้ายกันและกัน หากแต่ควรเข้าใจกันบนพื้นฐานแห่งความรักและเหตุผล ปราศจากอคติและการยึดมั่นในความแตกต่างทั้งปวง นำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างมีเอกภาพและสันติภาพ การใช้กำลังให้ผลเพียงระยะสั้นและหลีกเลี่ยงการสูญเสียได้ยาก รังแต่จะร้อยโซ่พยาบาทขัดแย้งให้ทอดยาวและหนักอึ้งขึ้น เมื่อมีการตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง ความชอบธรรมของแต่ละฝ่ายก็มิอาจคงความบริสุทธิ์ได้เหมือนเดิม คานธีจึงเรียกร้องให้ชาวอินเดียเผชิญหน้ากับผู้กดขี่ชาวอังกฤษอย่างกล้าหาญและสงบ ไม่ขัดขืนต่อการลงทัณฑ์และพันธนาการใดๆเพื่อให้ฝ่ายอังกฤษเกิดมโนธรรมสำนึกขึ้นในใจจนละอายไปกับทุกการกระทำแห่งการกดขี่และเลิกราไปเองด้วยความเต็มใจอันจะให้ผลยั่งยืนกว่าการใช้กำลัง
เรื่องราวของคานธีในภาพยนตร์คือภาพ 2 ภาพที่ดำเนินไปอย่างกลมกลืนและน่าประทับใจ หนึ่งคือภาพแห่งความรักและสันติภาพอันอ่อนโยนที่คานธีธำรงไว้แก่มวลมนุษย์เพื่อเอกภาพอันเรืองรองในระดับที่พ้นไปจากความแตกต่างทางความคิด อีกหนึ่งคือภาพแห่งการต่อสู้และการอดทนอันหนักแน่นแข็งกล้าต่อเงื้อมเงาแห่งจักรวรรดิอังกฤษและอคติระหว่างกันของคนในชาติ สองภาพนี้ดำเนินเคียงกันไปตลอดความยาวภาพยนตร์และส่งผ่านความมุ่งมั่นอันตราตรึงในหัวใจของคานธี บุรุษผู้ใฝ่หาสันติเพื่อมนุษย์ทั้งปวง